วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ครั้งที่ 2/2568 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และดร.วรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนฯ ตลอดจนคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วม ณ ห้องประชุมคณะกรรมการ ชั้น 10 สำนักงานใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กรุงเทพฯ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบอนุมัติโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการขยายศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพื่อการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนใรที่ทำการไปรษณีย์จำนวน 125 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนทั่วไป โดยมุ่งหวังให้ศูนย์เหล่านี้กลายเป็น “จุดเชื่อมโยงดิจิทัลระดับชุมชน” ที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Digital Community) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
ของประเทศอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ได้รับการอนุมัติในครั้งนี้ ได้แก่ โครงการพัฒนาและดำเนินการแพลตฟอร์ม ERP สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นโครงการระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบบริหารจัดการองค์กรของภาครัฐ ให้มีมาตรฐานกลาง โดยแพลตฟอร์ม ERP นี้จะรองรับการบริหารจัดการจัดการงบประมาณ การเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง และทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร ลดความซ้ำซ้อนของระบบงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานภาครัฐ โดยออกแบบให้มีโครงสร้างแบบ Multi-Tenant ที่สามารถควบคุมจากศูนย์กลาง รองรับการใช้งานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านระบบฐานข้อมูลเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของระบบงานเดิมที่แต่ละหน่วยงานพัฒนาแยกกันอยู่ และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้อย่างปลอดภัยด้วยระบบ API ที่มีมาตรฐาน
ทั้งนี้ ภาครัฐจะเป็นผู้ถือสิทธิ์ใน Source Code อย่างสมบูรณ์ เพื่อคงไว้ซึ่งมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมกันนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ภาครัฐใช้โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโดยรวม
ด้าน ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึง ความคืบหน้าการเปิดรับข้อเสนอขอรับทุนประจำปี 2568 ว่า ขณะนี้มีข้อเสนอโครงการยื่นเข้ามาทั้งสิ้นจำนวน 314 โครงการ ซึ่งทั้งหมด อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยการคัดเลือกจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่เน้นความสอดคล้องกับนโยบายดิจิทัลของประเทศ ความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยโครงการที่ยื่นเข้ามาแบ่งออกเป็น 3 กรอบนโยบายหลัก ได้แก่
1.Digital Technology: ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลได้ในวงกว้าง และมีผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม
2.Digital Trust & Security: มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในระบบดิจิทัล พร้อมยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ
3.Digital Manpower: พัฒนาทักษะและศักยภาพบุคลากรดิจิทัลให้สอดรับกับความต้องการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
ทั้งนี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาจะต้องมีความสอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ มีความเป็นไปได้ในการดำเนินงานจริง และสามารถวัดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้กองทุนดีอีสามารถทำหน้าที่ “เร่งเครื่อง” การพัฒนาดิจิทัลของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว
#รองนายกฯประเสริฐ #รมวประเสริฐ #ปลัดวิศิษฏ์ #รองอำไพ
#TheNationalBoardofDigitalEconomyandSocietyOffice
#DigitalEconomyandSocietyDevelopmentFund
#สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ