Loading
Header Image
รมว.ดศ. ได้ให้สัมภาษณ์กับกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
watermark

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้มีการให้สัมภาษณ์กับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งมีนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วย นางสาววรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการกองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้ารับทราบความเห็น และมุมมองต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในปัจจุบัน รวมถึงทิศทาง และนโยบายในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อนำมาปรับปรุงแผนการดำเนินงานระยะยาวและแผนประจำปี ภายใต้โครงการทำแผนปฏิบัติการประจำปีและกำกับติดตามตัวชี้วัดของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา และมีบทบาทในทุกมิติ เช่น มิติด้านการศึกษา มิติด้านความบันเทิง มิติทางการเงินหรือการธนาคารต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้น หลายภาคส่วนจึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านการบริการ ตลอดจนด้านบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานในทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งประเทศไทยเรามีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะส่งเสริมในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งมีนโยบายการขับเคลื่อนที่สำคัญในลักษณะของเครื่องยนต์ 3 ประการ ดังนี้ 1) การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างทั่วถึง ควบคู่กับการสร้างสังคมคุณภาพฐานดิจิทัล 2) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3) การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศและการดำเนินงานทุกประเภท ประชาชนคนไทยจะต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจโลกใหม่และเพื่อพัฒนาให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เหมาะสม เพื่อนำมากำหนดทิศทางการส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยกองทุนดีอีเป็นกองทุนที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควรดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยประชาชนควรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และควรมีการกระจายความเจริญหรือการยกระดับให้ครอบคลุมทุกมิติ และทุกกลุ่มเป้าหมาย เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ อีกทั้ง กองทุนดีอี ยังเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยในการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เช่น สนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล การส่งเสริมสตาร์ทอัพ ดังนั้น สิ่งที่กองทุนดีอี จะต้องให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยคำนึงถึงสถานการณ์ หรือบริบทของประเทศให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากที่สุด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการที่ได้การสนับสนุนจากกองทุนดีอี นั้น สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดทุนมนุษย์ ความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล ตลอดจนถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป

#สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

#สดช.

#กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม

#กองทุนดีอี

#ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


image รูปภาพ
image
image


คะแนนโหวต :
ImageImageImageImageImage