กองทุนดีอี ลงพื้นที่กาญจนบุรี ประชาสัมพันธ์โครงการการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคกลางผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อยอดแนวคิด “ศาสตร์พระราชา” สู่ห้องเรียนยุคใหม่
watermark

วันที่ 24 เมษายน 2568 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ “โครงการการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นภูมิปัญญาพื้นบ้านภาคกลาง โดยประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2563

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.กรัณย์พล วิวรรธมงคล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี พร้อมด้วยคณะอาจารย์และเจ้าหน้าที่โครงการจากมหาวิทยาลัย ร่วมให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการอย่างอบอุ่น

กิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรับฟังผลการดำเนินงานของโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการและคณะจากกองทุนฯ พร้อมร่วมกันสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ตลอดจนโอกาสในการต่อยอดการใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ท้องถิ่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคต

โครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 4,703,950 บาท ภายใต้กลุ่มงานส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (Education Technology: EdTech) โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคกลางให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล พร้อมระบบเรียนรู้ออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ทุกเวลา ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านเนื้อหาภูมิปัญญา วัฒนธรรมพื้นบ้าน การฝึกคิดวิเคราะห์ และการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

หลักสูตรได้รับการออกแบบให้สามารถนำไปใช้ได้จริงในโรงเรียนมากกว่า 200 แห่งทั่วภูมิภาคภาคกลาง ครอบคลุมทั้งในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาตามอัธยาศัย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 โดยเนื้อหาทางวิชาการและกิจกรรมการเรียนรู้จะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เพลงพื้นบ้าน ความเชื่อ วิถีชีวิตของชุมชน ต่อยอดสู่การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่

ขณะเดียวกัน นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่กว่า 10,000 – 15,000 คน จะได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้ผ่านระบบดังกล่าว ซึ่งออกแบบมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน โดยเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ฝึกคิด วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ความรู้จากรากวัฒนธรรมสู่การพัฒนาตนเองในโลกดิจิทัล

นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้แทนสำนักงาน สดช. กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ มีบทบาทในการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการศึกษา เศรษฐกิจ และสังคมทั่วประเทศ โครงการนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาองค์ความรู้จากฐานราก สู่การประยุกต์ใช้จริงในยุคดิจิทัล ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับวัฒนธรรมไทยอย่างมีส่วนร่วม พร้อมพัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่”

เนื้อหาภายในหลักสูตรได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดทำฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เพลงพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น และวิถีชีวิตในชุมชน มาสู่การออกแบบชุดการเรียนรู้ การจัดการอบรมออนไลน์สำหรับครูและผู้บริหาร ตลอดจนการออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลและระบบประเมินผลเพื่อวัดคุณภาพการเรียนรู้เชิงลึก

ในช่วงท้ายของกิจกรรม ได้มีการมอบของที่ระลึก ถ่ายภาพร่วมกัน และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยคณะผู้บริหารจาก สดช. ได้ย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนการเรียนรู้ในพื้นที่ผ่านกลไกของกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ซึ่งจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นทั่วประเทศในระยะต่อไป

โครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในแบบอย่างของความร่วมมือระหว่างรัฐและสถาบันการศึกษา ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสืบสานและต่อยอดองค์ความรู้ท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ และช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลระหว่าง “ความรู้เดิม” กับ “เครื่องมือใหม่” อย่างแท้จริง

#BDE #DEF

#TheNationalBoardofDigitalEconomyandSocietyOffice

#DigitalEconomyandSocietyDevelopmentFund

#ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

#สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

#กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

#กองทุนดีอี

#ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


image รูปภาพ
image
image
image
image
image


คะแนนโหวต :
ImageImageImageImageImage