วานนี้ (25 กรกฎาคม 2567) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ครั้งที่ 3/2567โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
ในโอกาสการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรกภายหลังรับตำแหน่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้แนวทางการทำงานและการบริหารกองทุนว่า กองทุนเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ แผนงานของกองทุนจึงต้องสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สามารถขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้างได้จริง และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพียงพอตามบริบทในแต่ละช่วงเวลา แล้วจึงบริหารจัดการงานและงบประมาณตามแผนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้น นอกจากนี้ ในการพิจารณาให้ทุนยังต้องคำนึงถึงการให้น้ำหนักกับการสนับสนุนทุนเพื่อการคิดค้นวิจัยพัฒนาสิ่งใหม่และการติดตามนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงต้องมีกลยุทธ์ในการให้ทุนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้ โดยอาจเชิญชวนบุคคล หน่วยงาน มาทำโครงการที่ตรงกับความเชี่ยวชาญ ซึ่งอาจเริ่มจากในลักษณะ sandbox ที่เน้นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ขยายผลได้ และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพและความโปร่งใส การส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และพลังงานสะอาดที่เป็นทุนสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล เป็นต้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเพิ่มเติม
ถึงกรอบการให้ทุนทั้งหมด 4 ด้านในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยที่สำคัญในลักษณะของเครื่องยนต์ 3 ประการ ดังนี้ (1) การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) (2) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ (3) การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital)
ด้านศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันการให้ทุนสนับสนุนของกองทุนฯ ยังมีข้อจำกัดในการสนับสนุนทุนเพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์อันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนและสร้างประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการศึกษาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
และนายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานต่อที่ประชุมว่า กองทุนฯ ได้มีแนวทางแผนงาน ในการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) ของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนที่สำคัญจากกองทุนฯ ในปี 2567 นี้ โดยจัดทำรายงานใน 3 โครงการนำร่อง เพื่อประเมินผลการสนับสนุนทุน ว่าสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ส่วนในด้านการดำเนินงานของกองทุนฯ ได้มีการพิจารณาการดำเนินการปรับปรุงระบบควบคุมภายใน และการปฏิบัติงานด้านบัญชีภาครัฐตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจสอบภายใน และพิจารณาอนุมัติค่าใช้จ่ายตามมาตรา 26 (5) และแผนปฏิบัติการประจำปี พ.ศ. 2568 ของกองทุนฯ โดยได้ทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
#สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
#สดช
#ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
#กองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
#กองทุนดีอี