เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผล กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่ ณ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการแพลตฟอร์มบริหารการขนส่งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และโครงการการพัฒนาระบบการรับรองสินค้าออนไลน์ผ่านการดำเนินงาน Fulfilment ต้นแบบเพื่อพัฒนาสินค้าออนไลน์อย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ให้การต้อนรับ
สำหรับโครงการแพลตฟอร์มบริหารการขนส่งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โครงการนี้ช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitized enterprise) และพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจดิจิทัล โดยการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ให้โอกาสผู้ประกอบการรายย่อยและเกษตรกรสามารถบริหารจัดการสินค้าได้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการกลางสำหรับการขนส่ง และเปิดโอกาสให้ผู้บริการขนส่งรายย่อยสามารถบริหารธุรกิจการขนส่งของตนเองผ่านบริการกลางของแพลตฟอร์ม ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งของประเทศไทยต่ำลง เพื่อให้ประชาชนไม่ต้อง
แบกรับภาระค่าขนส่งที่สูงเกินไป อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางและโอกาสในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ให้บริการขนส่งรายย่อย เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง สร้างมาตรฐานคุณภาพ
และความปลอดภัยในบริการขนส่งสินค้า และเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการขนส่งของประเทศ
ในส่วนของโครงการการพัฒนาระบบการรับรองสินค้าออนไลน์ผ่านการดำเนนิงาน Fulfilment ต้นแบบ เพื่อพัฒนาสินค้าออนไลน์อย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับการซื้อขายออนไลน์ E-Marketplace โดยยกระดับขีดความสามารถในการลดต้นทุนการบริหารจัดการสินค้าของผู้ประกอบการรายย่อย สำหรับการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมุ่งเน้นสร้างความเท่าเทียมด้านการจัดการคลังสินค้าเพื่อใช้สำหรับดำเนินการด้านภาษีให้มีความเท่าเทียมกันในสังคม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับผู้ให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ทำให้ลดปัญหาผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ของปลอมและช่วยเสริสร้างมาตรฐานของผู้ประกอบการ สามารถต่อยอดในการเป็นคลังสินค้าที่รับสินค้า จากต่างประเทศได้ในอนาคต รวมถึงสามารถนำข้อมูลที่เป็น Open Data เสนอให้ผู้ประกอบการเพื่อเป็นข้อมูลในการผลักดันธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต